เอลนีโญ-ลานีญา มีผลกระทบอะไรกับไทย

  เอลนีโญ-ลานีญา สองปรากฏการณ์นี้ คือ ความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ มักเรียกรวมว่า ENSO: El Nino Southern Oscillation ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำอุ่นที่อยู่บนผิวของมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดย ลมค้า (Trade wind) บริเวณระหว่างทวีปอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปออสเตรเลีย ฝั่งตะวันตกของมหาสมุทร คือประเทศ อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี และออสเตรเลียตอนเหนือ รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฝั่งตะวันออกคือประเทศเปรู เอกวาดอร์และโคลัมเบีย 

  ลมค้า (trade wind) ในภาวะปกติ จะพัดกระแสน้ำอุ่น ที่ลอยอยู่ชั้นบนของมหาสมุทร คล้ายเป่าลมที่ผิวน้ำในแก้วเบา ๆ พัดมายังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ออสเตรเลียตอนเหนือ อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย มีฝนตกปกติตามฤดูกาล ส่วนฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณชายฝั่งประเทศเปรูก็จะมีกระแสน้ำเย็นจากชั้นล่าง พัดพาสารอาหารจากข้างใต้มหาสมุทรขึ้นมาอย่างพอเหมาะทำให้มีปลามาก ดีต่อการทำประมง

  ปรากฏการณ์ เอลนีโญ คือ การที่ลมค้าอ่อนกำลังลง กระแสน้ำอุ่นไม่ถูกพัดไปยังฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก จะปกคลุมอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักอาจมีน้ำท่วมได้ ส่วนฝั่งตะวันตกนั้นมีกระแสน้ำเย็นที่อยู่ข้างใต้แทรกขึ้นมาแทนที่ ทำให้เกิดความร้อนและแห้งแล้ง ไฟป่าจึงเกิดง่ายในช่วงนี้

  ส่วนเหตุการณ์ตรงกันข้าม คือ ลานีญา เกิดจากลมค้าพัดแรงกว่าปกติ พัดกระแสน้ำอุ่นมาทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกจำนวนมาก ทำให้บริเวณนี้ มีฝนตกหนัก มักเกิดอุทกภัย และทำให้กระแสน้ำเย็นแทรกตัวขึ้นมาบริเวณฝั่งตะวันออกของมหาสมุทร ทำให้แถวประเทศเปรู เอกวาดอร์และโคลัมเบีย เกิดความแห้งแล้งขึ้นได้

 

  จะเห็นว่า ความแรงของลม มีผลต่อปรากฏการณ์ ENSO ดังนั้นการเคลื่อนตัวของมวลอากาศหรือลม จึงสำคัญมาก โดย ‘ลม’ เกิดจากความต่างของความกดอากาศ ถ้าความกดอากาศต่างกันมาก ลมก็จะพัดแรงมากขึ้น แรงมาก ๆ ก็เรียกว่าพายุ ซึ่งความกดอากาศที่ต่างกันเกิดจากอุณภูมิพื้นผิว “ปัจจุบันภาวะโลกร้อน (โลกเดือด) ทำให้พื้นผิวมีอุณหภูมิต่างกันมากขึ้นหรือลดลง เช่น พื้นผิวทะเลก็มีอุณภูมิสูงขึ้น สิ่งนี้ล้วนมีส่วนทำให้สภาพอากาศแปรปรวน 

  องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ได้บันทึกการเกิด El Ninyo (ตัวสีแดง) La Ninya (ตัวสีน้ำเงิน) ตั้งแต่ ค.ศ. 1950 โดยใช้ ONI (Oceanic Nina Index) คิดจาก anomaly Sea Surface Temp: SST พบว่า ที่ผ่านมารูปแบบ ENSO ในปัจจุบัน แสดงความแตกต่างหลายอย่างจากบันทึกในอดีต เช่น ความรุนแรงที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ลักษณะทางพื้นที่เกิดที่ขยับมาบริเวณกลางมหาสมุทร และระยะเวลาที่ติดต่อกันนานกว่าเดิม 

  เนื่องจากเรื่องอากาศและกระแสน้ำเป็นอะไรที่ซับซ้อนยังไม่มีผลการวิจัยระบุที่แน่ชัด แต่มีการตั้งข้อสังเกต คือ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาวะโลกร้อนที่มีผลต่ออุณหภูมิพื้นผิวของโลกในที่ต่าง ๆ จึงทำให้ความกดอากาศแตกต่างกัน กระแสลมจึงแปรปรวนไป บวกกับความชื้นในอากาศที่มากขึ้น เนื่องจากโลกร้อนทำให้มีการระเหยของน้ำขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ความรุนแรงของฝนจึงมากขึ้น คล้ายฝนไล่ช้าง กล่าวคือเกิดฝนในระยะสั้นแต่มีความรุนแรง ทั้งนี้ การตกของฝนในประเทศไทยยังขึ้นอยู่กับลมมรสุม และปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก เช่น ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ จึงยังไม่สามารถสรุปแยกรายจังหวัดได้ ปรากฎการณ์นี้ทำให้เห็นในภาพรวมเท่านั้น 

  และในช่วงมิถุนายนนี้กำลังเปลี่ยนผ่านจาก เอลนีโญ เข้าสู่สถานะเป็นกลางในเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม และเดือนสิงหาคม เริ่ม ลานีญา อาจยาวถึงช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 โดยความเป็นไปได้สูงสุด 85% ที่จะเกิด ลานีญา ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง มกราคม และสังเกตุจากข้อมูลได้ว่า หลังเกิด เอลนีโญ แรง ๆ จะเกิด ลานีญา ตามมาเสมอ โดยทุกท่านสามารถเข้าเว็บ CPC (Climate prediction center) เพื่อติดตามสถานการณ์ของปรากฎการณ์ ENSO ได้เอง

แหล่งที่มา : https://tu.ac.th/thammasat-120767-sci-expert-talk-el-nino-la-nina