มาเข้าใจ ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา กันเถอะ!

การเกิด "ลานีญา"

  โดยปกติลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน หรือแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรจะพัดพาน้ำอุ่นจากทางตะวันออกของมหาสมุทรไปสะสมอยู่ทางตะวันตก ซึ่งทำให้มีการก่อตัวของเมฆและฝนบริเวณด้านตะวันตกของแปซิฟิกเขตร้อน ส่วนแปซิฟิกตะวันออกหรือบริเวณชายฝั่งประเทศเอกวาดอร์ และเปรู มีการไหลขึ้นของน้ำเย็นระดับล่างขึ้นไปยังผิวน้ำซึ่งทำให้บริเวณดังกล่าวแห้งแล้ง สถานการณ์เช่นนี้เป็นลักษณะปกติจึงเรียกว่า "สภาวะปกติ" หรือ "สภาวะที่ไม่ใช่เอลนีโญ"

  "ลานีญา" ถือเป็นปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งเป็นสภาวะตรงข้าม "เอลนีโญ" (El Niño) สามารถเกิดขึ้นได้ทุก 2-3 ปี โดยปกติจะเกิดขึ้นนานประมาณ 9-12 เดือน แต่บางครั้งอาจปรากฏอยู่ได้นานถึง 2 ปี

  แต่มีบ่อยครั้งที่สถานการณ์ดังกล่าวถูกมองว่าเป็นได้ทั้ง "สภาวะปกติ" และ "ลานีญา" จะมีความแตกต่างตรงที่ "ลานีญา" ลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนมีกำลังแรงมากกว่าปกติ และพัดพาผิวน้ำทะเลที่อุ่นจากตะวันออกไปสะสมอยู่ทางตะวันตกมากยิ่งขึ้น

  ทำให้บริเวณแปซิฟิกตะวันตก รวมทั้งบริเวณตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย ซึ่งเดิมมีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าทางตะวันออกอยู่แล้วยิ่งมีอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นไปอีก อุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นส่งผลให้อากาศเหนือบริเวณดังกล่าวมีการลอยตัวขึ้นและกลั่นตัวเป็นเมฆและฝน ส่วนแปซิฟิกตะวันออกนอกฝั่งประเทศเปรูและเอกวาดอร์นั้นขบวนการไหลขึ้นของน้ำเย็นระดับล่างไปสู่ผิวน้ำ (upwelling) จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรุนแรง อุณหภูมิที่ผิวน้ำทะเลจึงลดลงต่ำกว่าปกติ โดยผลจากการที่อากาศลอยขึ้นและกลั่นตัวเป็นเมฆและฝนบริเวณแปซิฟิกตะวันตกเขตร้อนในช่วงปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มที่จะมีฝนมากและมีน้ำท่วม ขณะที่บริเวณแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออกมีฝนน้อยและแห้งแล้ง

ความต่าง "เอลนีโญ" กับ "ลานีญา" และผลกระทบต่อไทย

  หรือกล่าวได้ว่า "เอลนีโญ" จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดความแห้งแล้ง อากาศร้อน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย ส่วน "ลานีญา" จะเป็นปรากฏการณ์ขั้วตรงข้าม คือส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง ในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดฝนตกหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย

 

 แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2708436